เที่ยวแบบรักษ์โลก เที่ยวแบบ “Low Carbon Tourism”
สภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนกำลังเผชิญ หลายคนคิดว่าสาเหตุมาจากภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจพลังงาน แต่จากงานวิจัยของนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์ พบว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 4,500 ล้านตันในแต่ละปี หรือคิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากขึ้น เทรนด์ “การท่องเที่ยวสีเขียว” จึงมีบทบาทสำคัญที่นำมาใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวสีเขียว คือ “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)”
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Tourism เป็นการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำสามารถเป็นการท่องเที่ยวแบบง่ายๆ ตามความชอบของนักท่องเที่ยว เพียงแต่กิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นต้องให้ความสำคัญรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซคาร์บอน เช่น การเลือกยานพาหนะในการเดินทาง การเลือกโรงแรมที่เป็นโรงแรมสีเขียว การรับประทานอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบในท้องถิ่น การทำกิจกรรมท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมปลูกป่า ปลูกปะการัง การเก็บขยะ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าการท่องเที่ยวแบบทั่วไป แล้วเที่ยวอย่างไรถึงเรียกว่า “การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ”
การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เป็นหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีใจความสำคัญที่ว่า “เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด” สำหรับการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เราสามารถเที่ยวแบบง่ายๆ ด้วยการวางแผนเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เริ่มจากการจัดกระเป๋าเดินทางให้มีน้ำหนักเบา การเลือกยานพาหนะ เน้นการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ควบคู่ไปกับการใช้จักรยาน หรือพายเรือไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน เลือกพักในโรงแรมที่มีการดำเนินกิจกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ลดปัญหาขยะ หรือที่พักที่มีระบบการจัดการเอื้อต่อธรรมชาติ การเลือกรับประทานอาหารที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เน้นการท่องเที่ยวประเภทอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหากเป็นไปได้ ในทริปก็สมควรมีกิจกรรมที่ชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอน เช่น กิจกรรมปลูกป่า เก็บขยะ เป็นต้น
ประเทศไทยเรามีโครงการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำอยู่หลายพื้นที่ โดยทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันวิจัย บริเวณทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค ปล่อยลูกเต่าลงทะเล ปลูกปะการัง กิจกรรม Seed Bomb ยิงเมล็ดพืชปลูกป่า และรับประทานอาหาร Low Carbon Menu เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งทาง อพท. ได้เก็บผลการปล่อยคาร์บอน และพบว่า สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 56% เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีสถานที่เที่ยวที่เป็นการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำที่น่าสนใจอีก เช่น บ้านสลักคอก จ.ตราด บ้านป่าเหมี้ยง จ.ลำปาง บ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ บ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี บ้านคีรีวงกต จ.อุดรธานี และบ้านริมคลองโฮมสเตย์ จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)” จะเน้นกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และยังเกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สร้างโอกาสและการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการและชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น และเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนเริ่มกลับมาดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้ฟื้นฟูและอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
จัดทำบทความโดย นางสาวพรพรรณ ปัญญายงค์
เจ้าหน้าปฏิบัติงานด้านวิชาการ (การจัดทำวารสารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2564). CARBON NEUTRAL TOURISM คู่มือแนวทางการออกแบบและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์. กรุงเทพมหานคร.
บ้านเมือง. (2565). Low Carbon Tourism วิถีการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก เทรนด์แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนในยุคโควิค. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565. จากเว็บไซต์:https://www.
banmuang.co.th/news/politic/279069.
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. (2564). บทความเรื่อง การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (LOW CARBON TOURISM). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565. จากเว็บไซต์: https://tourism.utcc.ac.th/บทความเรื่อง-การการท่อ-3/.
7greensThailand. (2561). เที่ยวอย่างไรถึงเรียก Low Carbon Tourism?. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565. จากเว็บไซต์: https://7greens.tourismthailand.org/2018/10/26/เที่ยวอย่างไรถึงเรียก-low-carbon.
บทความ
-
“ป่าในเมือง” (Urban Forest)
By Mr. John 3h ago -
E-Waste ขยะใกล้ตัวที่รอการแก้ปัญหา
By Mr. John 3h ago -
การบริหารจัดการนำ้
By Mr. John 3h ago -
ขยะพลาสติก
By Mr. John 3h ago